บ้านโมเดิร์นชั้นเดียวรูปตัว U ที่เติมความร่มรื่นด้วยสวนสวยกลางบ้าน


จัดสวนกลางบ้าน ให้บ้านมีชีวิตชีวา
“บ้านหลังที่สองหมายถึงอะไร” นิยามของแต่ละคนก็คงต่างกันตามประสบการณ์และรูปแบบการใช้ชีวิต อาจจะเป็นบ้านเพื่อนที่ชอบไปหลบภัย ร้านกาแฟ ที่เข้าไปเยือนบ่อย ๆ แต่สำหรับบางคนอาจจะมีความหมายตรง ๆ ว่าเป็นบ้านที่ซื้อหรือสร้างหลังจากที่มีบ้านหลังแรกอยู่แล้ว เป็นบ้านตากอากาศสำหรับใช้เวลาพักผ่อนร่วมกับครอบครัวในวันหยุดหรือยามว่างเว้นจากงานประจำ เหมือนเช่นบ้านหลังนี้ในประเทศเกาหลี ที่เจ้าของคู่หนุ่มสาวกับลูกสาวสองคนต้องการบ้านที่จะสนุกกับประสบการณ์ชีวิตที่ไม่เคยได้รับจากอพาร์ทเม้นท์ในเมือง สถาปนิกเห็นว่าการใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติคือสาระสำคัญที่สำคัญที่สุดของการอยู่อาศัย การได้อยู่ในบ้านที่มีช่องว่างทั่วทั้งบ้านให้หายใจ เชื่อมสวนเข้ากับบ้านได้ทุกตารางเมตรจะตอบโจทย์ของบ้านหลังที่ 2 ได้อย่างดี

ออกแบบ : Yerangchung Architects


บ้านโมเดิร์นมี Courtyard ใจกลางธรรมชาติ
บ้านหลังนี้เลือกหลบเร้นมาสร้างอยู่ใน Hoengseong gun จังหวัดคังว็อน ติดกับแม่น้ำ Seom  แม้จะมีหมู่บ้านบ้านเดี่ยวและวิลล่าสร้างอยู่ แต่ก็ยังมีทัศนียภาพของธรรมชาติรายล้อม ด้วยความสดชื่นและน่าอยู่อาศัยทำให้ครั้งแรกที่สถาปนิกเห็นพื้นที่นี้ก็นึกถึงคำว่า Gageojiji หมายถึง พื้นที่ดี ๆ ที่น่าใช้ชีวิต ซึ่งกลายมาเป็นชื่อของบ้าน สถาปนิกออกแบบอาคารให้เป็นสองส่วนใหญ่ ๆ อาคารด้านหลังสูงกว่าด้านหน้า 1.5 เมตร เพื่อปกป้องพื้นที่ส่วนตัวด้านในซึ่งเป็นที่ว่างตรงกลาง โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าแม้จะจัดรูปลักษณ์และพื้นที่ใช้สอยของบ้านในแบบที่ไม่คุ้นเคย แต่ก็หวังว่าผู้อยู่จะเข้าใจถึงความหมายของชื่อ (Gageojiji) เมื่อได้เข้าอยู่อาศัย


ในเกาหลีใต้มีภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาอยู่มากมาย บ้านบางหลังจึงสร้างบนเนินเป็นเรื่องปกติ และมีเอกลักษณ์ในการใช้วัสดุธรรมชาติมาเป็นโครงสร้างหรือตกแต่งบ้าน อย่างเช่น แผ่นหินสีดำ ไม้ ดิน ซึ่งสถาปนิกรุ่นใหม่บางคนยังต้องการให้หลงเหลือรากเดิมอยู่บ้าง ดังนั้นแม้บ้านโมเดิร์นที่ลดทอนรายละเอียดให้รูปลักษณ์เฉียบคมขึ้น วัสดุบางอย่างไม่เหมือนเดิม ใส่ฟังก์ชั่นใหม่ ๆ ให้ตัวบ้าน แต่ยังคงความรู้สึกถึงสถาปัตยกรรมแบบเกาหลีอยู่


ผนังกระจก เปิดโปร่งซึมซับสีสันธรรมชาติในคอร์ทกลางบ้าน
สถาปนิกมีแนวคิดในการออกแบบว่า พื้นที่สบายไม่จำเป็นต้องสะดวกสบาย เพราะเชื่อว่าต้องมีความไม่สะดวกในพื้นที่ที่อยู่อาศัยอยู่บ้างเพื่อเพิ่มความรู้สึกสนุกและเพลิดเพลินกับความสบายได้สูงสุด คำกล่าวนี้หากฟังลอย ๆ อาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าได้เห็นภาพ ลองนึกถึงความสบายที่สะดวกแบบห้องโล่ง ๆ เปล่า ไม่มีบันไดอะไรเลย ก็คงดูราบเรียบ แต่ถ้าต้องเดิมอ้อมเล็กน้อยเข้าไปซึมซับสีสันของธรรมชาติที่ลานหน้าบ้าน ผ่านสนามหลังบ้าน เดินขึ้นบันไดขึ้นไปชั้นสอง เพื่อให้สามารถเห็นวิวสวนได้ทั้งหมด ก็จะสัมผัสมุมมองที่แตกต่าง เป็นความลำบากเล็ก ๆ ที่ให้สุขที่ใหญ่กว่า


วางตำแหน่งห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องรับประทานอาหารหันหน้าไปทางทิศใต้ เพื่อให้พอดีกับภูมิประเทศที่รับแสงแดดสดใสและทัศนียภาพอันงดงามผ่านผนังกระจกได้พอดี





ด้วยความเคารพต่อธรรมชาติ นักออกแบบจึงจัดคอร์ดยาร์ทเป็นสวนเปิดโล่งออกสู่ท้องฟ้า เชื่อมต่อพื้นที่มาจากสวนหลังบ้าน ล้อมรอบด้วยห้องนั่งเล่น ครัว มุมทานอาหาร ห้องนอน ที่ติดผนังกระจกช่วยเบลอขอบเขตให้พื้นที่กลางแจ้งกับตัวบ้านภายใน-ภายนอก ทำให้พื้นที่กลางแจ้งกลายเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งภายใน คอร์ดยาร์ดจึงเป็นจุดที่ทำหน้าที่แยกแต่ละส่วนของบ้านออกจากกัน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางรวมพื้นที่ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน

 ชั้นบนติดผนังกระจกทำให้มองทะลุลงไปเห็นสวนที่จัดอยู่ได้ชัดเจน



คอร์ทกลางบ้าน สร้างเส้นทางลม ไหลไปตามโถงบันได
โถงทางเดินระหว่างชั้นสองที่มีผนังกระจกเปิดออกได้ สร้างเส้นทางลมนำกระแสลมให้ขึ้นไปตามพื้นที่หลังคา ด้านซ้ายของบันไดบิวท์ชั้นวางหนังสือเต็มพื้นที่ เพื่อเป็นจุดเก็บหนังสือใกล้ ๆ ชานพักที่จัดเอาไว้เป็นมุมสงบ ๆ สำหรับให้สมาชิกที่ชอบงานเขียนได้ใส่เป็นพื้นที่ส่วนตัวอ่านและเขียนหนังสือ


ที่ว่างใจกลางบ้าน รวมคน บ้าน ธรรมชาติเข้าด้วยกัน
งานสถาปัตยกรรมเกี่ยวข้องอย่างมากกับความรู้สึก การสร้างบ้านในพื้นที่เท่ากันแต่วางทิศทางการรับแสง จังหวะการเปิดและปิดตัวบ้าน การใช้วัสดุที่มีผิวสัมผัสและและสีต่างกันก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่าง การใส่พื้นที่ว่างเข้าไปในใจกลางอาคาร แม้จะดูเหมือนการสูญเสียพื้นที่ใช้สอย แต่กลับเป็นจุดที่เว้นเอาไว้เพื่อเติมลมหายใจให้บ้าน สร้างมิติแห่งการอยู่อาศัยที่รวมคน บ้าน กับธรรมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว เกิดคุณประโยชน์ที่กระทบความอารมณ์ความรู้สึกและการสร้างบรรยากาศที่ดีให้บ้านได้อีกรูปแบบหนึ่ง


สถาปัตยกรรมที่ดำรงตนอยู่อย่างเอกเทศ ขาดความเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อม จะเป็นที่อยู่อาศัยที่ขาดชีวิตชีวาและแข็งกระด้าง การสร้างคุณภาพของที่อยู่อาศัย ด้วยการใส่ที่ว่างตามจุดต่าง ๆ ใช้ภูมิทัศน์และพื้นที่ว่างเปิดออกสู่ท้องฟ้า ทำหน้าที่เชื่อมสถาปัตยกรรมกับบริบท เป็นองค์ประกอบที่สะท้อนปรัชญาการใช้ชีวิตแฝงเร้นอยู่ภายใต้รูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งสถาปนิกตั้งใจให้ผู้อยู่อาศัยได้เปิดใจลองสิ่งที่ยังไม่เคยสัมผัสได้อย่างน่าสนใจ

แปลนบ้านชั้น 1 แสดงพื้นที่จัดคอร์ทอยู่ใจกลางบ้านพอดี


ความคิดเห็น