บ้านสองชั้นปรองดองกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
เวียดนามเป็นประเทศเขตร้อนเหมือนไทย ซึ่งมีสองสภาพอากาศที่เด่นชัดคือ ร้อนจัดในฤดูร้อนและชื้นในฤดูฝน อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 38 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อนอาจลดลงอย่างมากถึง 10 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่ฮานอยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเมืองหลวงได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดวิวัฒนาการของบ้านแบบกล่องที่ใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสถาปนิกยุคหลัง ๆ คิดว่าแม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ง่ายแต่ไม่ยั่งยืน จึงเลือกใช้การออกแบบสถาปัตยกรรมเข้ามาทำให้บ้านสอดรับกับสภาพอากาศตามธรรมชาติ ผ่านรูปทรงบ้าน วัสดุ ช่องเปิด และหลังคา เหมือนบ้านหลังนี้ในเวียดนามที่ออกแบบมาเหมือนกระดาษพับไปมา นอกจากสวยแล้วยังสามารถตอบสนองต่อสภาพอากาศร้อนชื้นได้ดี
ออกแบบ : Toob Studio
=> กลับสู่ Home
บ้านหลังคาแปลก ปกป้องบ้านจากสภาพอากาศร้อนชื้น
Ba Vi ตั้งอยู่ห่างจากกรุงฮานอย 30 กิโลเมตร อุณหภูมิของเมืองอยู่ที่ประมาณ 28 องศา ในขณะที่ฮานอยอุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียส ด้วยระบบนิเวศที่เป็นภูเขาแบบรอบ ๆ บริเวณซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสัตว์ป่าที่ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ Ba Vi จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับชาวเมืองที่จะเพลิดเพลินและเริ่มต้นความปรองดองกับธรรมชาติ ซึ่งนี่เป็นเป้าหมายหลักสำหรับสถาปนิกในการเริ่มต้นโครงการนี้ทั้งหมด
การก่อสร้างใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 4 เดือน โดยเน้นใช้วัสดุในท้องถิ่นและวิธีการจัดโครงสร้างที่เหมาะสม เพื่อให้ช่างก่อสร้างท้องถิ่นสามารถทำงานได้ทันทีหลังการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ ระบบหลังคาที่มีทั้งสูงและต่ำสร้างรูปแบบเหมือนพับไปมาที่น่าสนใจเพื่อเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้ต่างไปจากหลังคาทั่วไป หลังคาที่สูงขึ้นและพับลงบนเฉลียงขนาดใหญ่ ด้านล่างที่กว้างขึ้น จะช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคารและความแตกต่างของอุณหภูมิในช่วงอากาศร้อน และปกป้องบ้านจากฝนได้ดี การออกแบบที่อยู่ใกล้เคียงกับธรรมชาติทำให้บ้านได้รับลมและความเย็นสบายจากภายนอก
มุมครัวที่เรียบง่ายที่สุด มีเพียงเคาน์เตอร์ก่อจากคอนกรีต ผนังด้านหลังตกแต่งแผ่นหินเชื่อมต่อมาจากด้านหน้า ใกล้ ๆ กันเป็นบันไดขึ้นสู่ชั้นสองทำจากแผ่นเหล็กสีดำเหมือนแขวนลอยตัวอยู่บนราวเหล็กสีดำเช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากบันไดเวียดนามแบบดั้งเดิมออกแบบมาเพื่อสร้างจุดโฟกัสสายตาสร้างจุดสนใจให้บ้านโดยเฉพาะ
ประตูหน้าบ้านเป็นประตูกระจกใส่ระแนงเหล็กเข้าชุดกันกับช่องแสงด้านบน ซึ่งทำหน้าที่เป็นปราการให้บ้านและเป็นจุดรับแสงและระบายอากาศ ในบ้านเขตร้อนหลายคนจะกังวัลเรื่องช่องเปิดที่จะรับแสงเข้ามาได้มาก จึงไม่ค่อยอยากใช้ผนังกระจก แต่สถาปนิกแนะนำว่าในบ้านร้อนชื้นจำเป็นต้องได้รับแสงแต่ให้ทำวัสดุกั้นกรองแสงเป็นชั้น ๆ แทน ซึ่งระแนงก็ช่วยทำหน้าที่นั้นด้วย
ภายในโปร่งโล่ง Open Space เปิดผนังรับอากาศไหลลื่น
เมื่อเปิดประตูเข้ามาจะพบส่วนของห้องนั่งเล่นแบบเปิด ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศโปร่งสบาย คล้าย ๆ กับพื้นที่รับแขกของบ้านในเวียดนามยุคก่อนที่ห้องนั่งเล่นจะเป็นเหมือนชานโล่งๆ ผนังห้องตกแต่งด้วยแผ่นหิน เพดานกรุด้วยไม้ ให้ความรู้สึกเหมือนได้กลับสู่ธรรมชาติ
ประตูสามารถเปิดได้ 180 องศา ในวันที่ต้องการรับบรรยากาศภายนอกก็เปิดรอบด้าน บ้านจึงดูเหมือนบ้านไร้ผนัง
พื้นที่กว้างขวางและโปร่งสบายตั้งอยู่ที่เชิงบันได เพดานค่อนข้างสูงเพื่อสร้างการระบายอากาศ ห้องนั่งเล่นกว้างขวางพร้อมประตูบานใหญ่ ล้อมรอบบ้านจะปลูกความรู้สึกของธรรมชาติ จุดเด่นของบ้านนี้อยู่ที่การเจาะบ้านโถงสูง Double Space เป็นการเพิ่มระยะจากพื้นถึงฝ้าขึ้นในส่วนที่ต้องการการระบายอากาศแบบธรรมชาติ การทำโถงสูงสองเท่าแบบนี้จะช่วยให้การหมุนเวียนอากาศภายในดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีทางให้ลมเข้าและทางออกของลมจากภายนอก ก็จะช่วยให้การระบายอากาศดีขึ้นโดยแทบไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ
Double Space รับอากาศร้อนให้ระบายออกตามธรรมชาติ
การทำโถงสูงจะไม่มีประโยชน์เลยหากทำผนังเป็นกระจกปิดตาย ไม่มีช่องทางให้ระบายระบายอากาศ เพราะอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นไปแล้ววนอยู่ภายใน บ้านจะกลายเป็นกล่องที่กักเก็บความร้อนดีๆ นี่เอง สถาปนิกจึงออกแบบช่องเปิดขนาดใหญ่อยู่ด้านล่าง และมีช่องหน้าต่างอยู่ด้านบนที่จะทำหน้าที่รับมวลอากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงแล้วระบายออกจากตัวอาคาร ทำให้บ้านเย็นขึ้นด้วยการออกแบบทางสถาปัตยกรรม
หลังคาจั่วสูง เป็นหนึ่งรูปบบทรงหลังคาที่เหมาะกับบ้านในเขตร้อน เพราะองศาความลาดเอียงช่วยระบายน้ำฝนได้ดี ไม่ทำให้มีความชื้นเหลือบนหลังคา และยังช่วยเรื่องการระบายอากาศได้ดี
เฉลียงหน้าบ้านก่อนเข้าสู่ภายใน เพิ่มพื้นที่นั่งเล่นเอาท์ดอร์สบาย ๆ แบบไม่ต้องกังวลเรื่องแดดฝน
ลังคาแบบไม่สมมาตร ซึ่งเป็นไปได้ยากในการสร้างบ้านยุคก่อน แต่ในปัจจุบันมีวัสดุอย่างเหล็กมาเป็นตัวช่วยสำคัญทำให้การก่อสร้างบ้านในรูปทรงใหม่ ๆ ทำได้ง่ายขึ้น และเข้ากันได้กับวัสดุธรรมชาติอย่างอิฐ ไม้ หิน จนออกมาเป็นบ้านที่เหมาะกับการใช้ชีวิตสบายๆ อย่างยั่งยืน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น