พามารู้จัก Wang Shu ผู้ปลุกสถาปัตยกรรมจีนให้กลับมาผงาดในโลกยุคปัจจุบันได้อีกครั้ง


“สถาปัตยกรรมไม่ใช่เพียงแค่วัตถุที่จะนำมาตั้งในพื้นที่ หากคือส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม” Wang Shu กล่าว 

Ceramic House, 2003-2006, Jinhua, China

Wang Shu สถาปนิกชาวจีนคนแรกและมีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น ซึ่งได้รับรางวัล Pritzker Prize ในปี 2012 จากแนวคิดการทำงานที่เชื่อว่าสถาปัตยกรรมไม่มีตัวตน เพราะเขาเคารพและเชื่อมั่นในวัฒนธรรมท้องถิ่น ธรรมชาติ และงานฝีมือ ซึ่งเรารับรู้ได้จากแนวทางการทำงานอันชัดเจนและมั่นคงที่ถูกผสานรวมจนกลายเป็นสถาปัตยกรรมในรูปแบบของ Wang Shu โดยเฉพาะ

Ningbo Historic Museum, 2003-2008, Ningbo, China

Wang Shu เกิดในปี 1963 ที่เมืองอูรุมฉี (Urumqi) แคว้นซินเจียง (Xinjiang) ซึ่งอยู่แถบตะวันตกของประเทศจีน มีพ่อและแม่เป็นส่วนสำคัญในการจุดประกายให้สนใจในเรื่องการใช้วัสดุ งานฝีมือ และวรรณกรรม เมื่อ Wang Shu ยังเป็นวัยรุ่น เขามักจะนั่งรถไฟเพื่อเดินทางจากเมืองบ้านเกิดไปเมืองปักกิ่งซึ่งแม่ของเขาเป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น ระยะทางราว 4,000 กิโลเมตร เขาต้องอาศัยอยู่บนรถไฟตลอด 4 วัน 4 คืน ซึ่งในการเดินทางแต่ละครั้งนั้นส่งผลให้ Wang Shu มีวิสัยทัศน์ที่กว้างขวางและยืดหยุ่น ได้เรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมธรรมชาติตลอดการนั่งรถไฟ และเขายังได้จดบันทึกเรื่องราวที่พบเจอผ่านการวาดรูปทิวทัศน์ข้างทาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาสนใจศึกษางานศิลปะและการเขียนหนังสือด้วยตัวของเขาเองอีกด้วย

Ningbo contemporary art museum, 2001-2005, Ningbo, China

Wang Shu มีความสนใจในด้านงานศิลปะ แต่พ่อแม่ส่งเสริมให้เป็นวิศวกร เขาจึงเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมที่อยู่ตรงกลางระหว่างการวาดภาพและการคำนวณ โดย Wang Shu จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทจาก Nanjing Institute of Technology ในปี 1985 และปี 1988 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามถึงแม้เขาจะเกิดที่เมืองอูรุมฉี และใช้ชีวิตวัยเรียนที่หนานจิง (Nanjing) แต่เขาก็เลือกที่จะเริ่มต้นทำงานในเมืองหางโจว (Hangzhou) เพราะเป็นเมืองที่มีธรรมชาติแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ทั้งเทือกเขา ธารน้ำ และยังเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในการวาดงานศิลปะเกี่ยวกับทิวทัศน์ทางธรรมชาติอีกด้วย เมื่อ Wang Shu เรียนจบจึงเริ่มทำงานที่ Zhejiang Academy of Fine Arts ซึ่งเขาทำงานเกี่ยวกับการศึกษาข้อมูล สิ่งแวดล้อมและความสัมพันธ์ในการบูรณะสถาปัตยกรรมเก่าแก่ และในปี 1988 เขาได้ออกแบบศูนย์เยาวชนบนพื้นที่ 3600 ตารางเมตรในเมืองหางโจว ซึ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1990

Ningbo contemporary art museum, 2001-2005, Ningbo, China


ช่วงปี 1990 – 1998 Wang Shu ได้เข้าไปทำงานในไซท์เหมือนคนงานก่อสร้างที่เริ่มงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืนในทุกวัน เขาทำงานและใช้ชีวิตเหมือนคนงานทุกประการ เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ในการก่อสร้างและโครงสร้างทุกอย่างตลอด 8 ปี และเนื่องจาก Wang Shu มีความสนใจด้านการรีโนเวทอาคาร โปรเจคที่เขาเลือกทำจึงมักจะเป็นงานรีโนเวทสถาปัตยกรรมแทบทุกโปรเจค ในปัจจุบัน Wang Shu เป็นอาจารย์และหัวหน้าสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ China Academy of Art ในเมืองหางโจว เขามีแนวคิดให้นักเรียนปี 1 ใช้เวลาทั้งปีในการศึกษาเรื่องวัสดุ โครงสร้าง เรียนรู้ความรู้พื้นฐานในการใช้ไม้และอิฐด้วยตัวของนักเรียนเอง เพราะ Wang Shu เชื่อว่า มีแต่คนที่เข้าใจธรรมชาติและสัจจะของวัสดุอย่างแท้จริงเท่านั้น ถึงจะสามารถสร้างผลงานศิลปะโดยใช้วัสดุนั้นๆได้

“ผมมักจะพูดว่าเสมอว่าเรากำลังออกแบบ “บ้าน” แทนการพูดว่ากำลังออกแบบตึก เพราะสำหรับผมสถาปัตยกรรมคือบ้าน คือเรื่องราวของชีวิตประจำวันที่อยู่ใกล้ชิดกับตัวเรา” Wang Shu กล่าว 

Wang Shu และ Lu Wenyu

Wang Shu และ Lu Wenyu ภรรยาของเขาได้ก่อตั้งบริษัท Amateur Architecture Studio ในปี 1997 ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน Amateur Architecture Studio หมายถึง ผู้สร้างสถาปัตยกรรมมือสมัครเล่น ซึ่งมีความสัมพันธ์อันเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ งานฝีมือ ประเพณี และวัฒนธรรม จากการที่ Wang Shu ได้ไปทำงานที่ไซท์ก่อสร้าง เขาจึงนำประสบการณ์ในส่วนนี้มาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบและนำวัสดุดั้งเดิมมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ในแต่ละโปรเจค

เอกลักษณ์ของ Amateur Architecture Studio คือการผสมผสานระหว่างความเข้าใจการใช้วัสดุแบบดั้งเดิมและการออกแบบอาคารรูปทรงโมเดิร์น โดยนำมาศึกษาหาข้อมูลและทำการทดลอง ให้เป็นพื้นฐานการออกแบบของสตูดิโอ

เพิ่มคำอธิบายภาพ

บ่อยครั้งที่ Wang Shu และ Lu Wenyu เลือกที่จะใช้กระเบื้องดินเผาซึ่งเป็นวัสดุดั้งเดิมของประเทศจีนมาใช้ในงาน เป็นการนำธรรมชาติและมรดกที่สืบทอดสานต่อในงานของพวกเขา ซึ่งพวกเขามักออกแบบผลงานที่มีความทันสมัย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสถาปัตยกรรมที่ไร้ตัวตนจากการเลือกใช้วัสดุเก่าแก่ด้วยเช่นกัน


Ningbo Historic Museum

โปรเจคของ Wang Shu และ Lu Wenyu ที่เป็นที่จดจำคือ Ningbo Historic Museum โปรเจคตัวอย่างที่จะเห็นภาพการใช้โครงสร้างและการใช้วัสดุของเขาทั้ง 2 ได้ชัดเจนที่สุด โดยการนำกระเบื้องดินเหนียวที่ถูกทำลายทิ้งหรือที่พุพังจากซากเก่าอาคารในไซท์มาใช้อีกครั้ง ด้วยการนำกระเบื้องดินเดิมมาเรียงต่อกันเป็นชิ้นๆ ผ่านโครงสร้างอาคารแบบดั้งเดิม เพราะนอกจากจะสามารถสะท้อนถึงการนำวัสดุดั้งเดิมเพื่อสืบทอดประวัติศาสตร์มาใช้ในงานแล้ว ยังเป็นการรีไซเคิลวัสดุให้เกิดประโยชน์อีกครั้งด้วย


Ningbo Historic Museum


Xiangshan Campus of the China Academy of Art

Xiangshan Campus of the China Academy of Art เป็นอีกโปรเจคที่แสดงถึงความศรัทธาและความเชื่อในการเล่าเรื่องวัสดุของ Wang Shu และ Lu Wenyu โปรเจคนี้คือสถาบันสอนศิลปะที่ใช้กระเบื้องดินเผากว่า 2 ล้านชิ้น จากบ้านเก่าแก่ที่ถูกทำลายทิ้ง นำมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์และแสดงสัจจะวัสดุให้เห็นขึ้นอีกครั้ง งานของ Wang Shu มักจะหลีกเลี่ยงการทุบ ทำลาย หรือรื้อถอน เพราะเขาเลือกที่จะสร้างเรื่องราวและสร้างความต่อเนื่องเพื่อสืบทอดประวัติศาสตร์ประเทศจีนผ่านทางการออกแบบสถาปัตยกรรมในแต่ละโปรเจค


สเปซที่เชื่อมต่อกันระหว่างช่องเปิดภายในและภายนอก



Xiangshan Campus of the China Academy of Art, 2002-2004, Hangzhou, China
Tiled Garden

ในปี 2006 Wang Shu และ Lu Wenyu ได้ออกแบบ Tiled Garden ที่งาน Venice Architecture Biennale เขาทั้งสองเลือกที่จะออกแบบ Installation ที่สร้างจากกระเบื้องดินเผามากกว่า 66,000 ชิ้นซึ่งถูกทำลายทิ้งในประเทศของเขา นำมาเรียงต่อกันเป็นผลงานศิลปะชิ้นใหญ่ ที่ผู้คนสามารถเดินขึ้นไปดูในพื้นที่ต่างๆของบริเวณพื้นที่จัดงานได้

เพิ่มคำอธิบายภาพ

สถาปนิกหลายๆคนมักจะนำวัฒนธรรมทางประเทศตะวันตกมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ แต่แรงบันดาลใจของ Wang Shu คือการออกแบบจากรากเหง้าวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เก่าแก่ของประเทศจีน มาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าสนใจในปัจจุบัน

Ningbo Tengtou Pavilion

Ningbo Tengtou Pavilion อยู่ในหมู่บ้าน Tengtou Village ที่เมืองหนิงโบ (Ningbo) ซึ่่งเป็นหนึ่งในพื้นที่จัดงานของ Shanghai Expo โดย Tengtou เป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างความสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวให้พัฒนามากขึ้น แต่ในขณะเดียวทรัพยากรธรรมชาติก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์และไม่ถูกรบกวนจนเกินไปนัก Pavilion นี้แบ่งเป็นสเปซหลายส่วน เช่น Sounds of Nature, Close to Nature, Moving Images และ Interactive Signature ซึ่งแต่ละสเปซก็จะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน เช่น Sounds of Nature ได้รับแรงบันดาลใจจากตัวหนังสือจีนที่เกี่ยวกับพระอาทิตย์ 24 ตัว หรือ Close to Nature เป็นสเปซที่ผู้ใช้จะสัมผัสได้ถึงสภาพแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของเมือง Tengtou นั่นเอง


Ningbo Tengtou Pavilion, 2010, Shanghai, China




Wang Shu และ Lu Wenyu คือสถาปนิกที่ทำให้เราแน่ใจว่าบางทีการอนุรักษ์ของเก่าหรือการนำกลับมาใช้อีกครั้งก็สามารถทำให้สถาปัตยกรรมชิ้นนั้นๆทรงพลัง จากเรื่องเล่าของวัสดุและโครงสร้างที่ต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยิ่งทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าสถาปัตยกรรมชิ้นไหนๆ เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่ได้เติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ซึ่งทำให้จับต้องและรับรู้ได้ง่ายมากขึ้น เพราะสถาปัตยกรรมไม่ใช่แค่อาคารที่บรรจุฟังก์ชันไว้ข้างใน หากแต่เป็นการนำเรื่องราวและแนวคิดซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมและวิธีการใช้ชีวิตมาออกแบบนั่นเอง



ขอบคุณที่มาและรูปภาพจาก Archdaily, Dezeen, Pritzkerprize

ความคิดเห็น