บ้านผนังกระจกยกพื้นสูงเป็นมิตรธรรมชาติ
หากเป็นยุคก่อนการมีบ้านในป่าเขาคือไกลปืนเที่ยงอยู่ในถิ่นทุรกันดาร มีพื้นที่สร้างบานเป็นเนินก็ชวนให้ท้อแท้ใจเพราะต้องปรับกันยาว แถวยังมีพื้นที่ราบให้ใช้น้อย กลับกันในสมัยนี้ที่ผู้คนไฝ่ฝันจะได้มีบ้านกลางธรรมชาติให้หายใจสบายๆ สักหลัง ถึงจะอยู่ห่างไกลความสะดวก แต่แลกกับวิวและอากาศบริสุทธิ์ก็สุดคุ้ม ยิ่งถ้ามีจุดสร้างบ้านที่เป็นเนินก็จะเพิ่มความท้าทายของวิวและความน่าสนุกของบ้าน ซึ่งสถาปนิกสามารถใช้องค์ความรู้ที่มีช่วยให้การก่อสร้างง่ายขึ้น โดยที่แทบไม่กระทบต่อหน้าดินไม่ต้องปรับพื้นที่ให้เสียเวลา
ตั้งแต่การเยี่ยมชมที่ดินครั้งแรก สถาปนิกก็เห็นว่าพื้นที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ การออกแบบที่ดีที่สุดคือต้องเคารพกับสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มากที่สุด เพราะที่ดินที่อยู่ติดกันก็เป็นป่าซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครอง จึงต้องคิดว่าจะรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตรได้อย่างไร และใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติได้ช่องทางไหนบ้าง สุดท้ายจึงลงตัวที่การวางบทบาทให้บ้านมีการแบ่งปันเกื้อกูลกับธรรมชาติ ไม่มีความพยายามที่จะโดดเด่น แต่อยู่ร่วมกันโดยระลึกถึงคุณค่าของต้นไม้แต่ละต้น ดินทุกตารางเมตร ผ่านวัสดุโครงสร้างเหล็ก ไม้ และกระจกเป็นหลัก
สถาปนิกศึกษาภูมิประเทศอย่างดีก่อนลงมือวางตำแหน่งของอาคาร โดยออกแบบตามแนวที่ที่ดิให้สอดคล้องกับภูมิประเทศตามธรรมชาติ จึงเลือกทำอาคารให้บางส่วนบางอยู่บนพื้นที่ราบ อีกส่วนที่ลึกลงไปเป็นทางลาดจะใช้เสาคอนกรีตรองรับตัวอาคาร เหมือนยกบ้านวางบนนั้นทำให้มีผลกระทบต่อหน้าดินน้อยมาก เพราะพื้นดินลอดใต้ตัวบ้านไปตามทางแบบไม่ต้องตัดต้นไม้ ไม่ต้องใช้รถขุด เจาะ ปรับหน้าดินให้ราบเรียบเสมอกัน
ในส่วนของการก่อสร้าง จะใช้เหล็ก และระบบอิฐคอนกรีตเซลลูลาร์ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลกว่า 30 % ซึ่งทำหน้าที่ฉนวนกันความร้อนในอาคาร เพราะเป็นวัสดุที่มีการนำความร้อนต่ำที่ใช้ในการลดการสูญเสียความร้อนในอาคารได้ดี หน้าต่างประตูใช้กระจกสุญญากาศสองชั้น และกรอบอะลูมิเนียม A30new เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่ดีที่สุด แม้ว่าจะมีผนังกระจกจำนวนมากบ้านก็ยังอยู่สบาย เกิดความสมดุลทางสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาทั้งจากวัตถุดิบและจากฉนวนที่ดีที่สร้างขึ้น นอกจากนี้ชายคาขนาดใหญ่ก็มีบทบาทสำคัญในการปกป้องบ้านจากแดดและฝนด้วย
บ้านประกอบด้วยอาคารสองหลังวางหันท้ายชนกัน แล้วหันหน้าออกไปคนละด้านเชื่อมต่อกันในทางเดินกว้างสองเมตร ด้านหนึ่งใช้เป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีฟังก์ชันห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร และห้องนั่งเล่น ขนาดกว้างขวาง ภายในโปร่งสว่างด้วยผนังกระจกที่ติดดสูงจากพื้นถึงเพดาน เปิดมุมมองให้เห็นวิสัยทัศน์อันเขียวขจีภายนอกได้รอบด้านแบบไม่มีอุปสรรค บนเพดานกรุด้วยไม้เน้นให้เห็นความลาดชันของหลังคาเพิงหมาแหงนอย่างชัดเจน
ในอีกด้านของอาคารมีขนาดที่กะทัดรัดกว่า ด้วยห้องที่มีลักษณะเป็นส่วนตัวมากขึ้น ประกอบด้วยห้องนอน 3 ห้อง โดยจะมีห้องน้ำในตัวและระเบียงในทุกพื้นที่ เราจะเห็นหน้าต่างบานใหญ่ที่สร้างพื้นที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอพร้อมเปิดรับธรรมชาติ และสามารถนำตัวเองเข้าไปชิดใกล้กับเสียงนอกร้อง ทิวไม้ ท้องฟ้า สายลมอ่อน ๆ ที่เดินทางพาดผ่าตลอดทั้งวันที่ระเบียงกว้างๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ชัดว่าในขณะที่มนุษย์เอื้อต่อธรรมชาติ เราก็ได้ประโยชน์จากวิว ความสดชื่นของต้นไม้ เป็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของงานก่อสร้างกับสิ่งแวดล้อมที่ลงตัว
แชร์ไอเดีย : การสร้างบ้านในที่เนินต่างระดับ อาจจะทำได้หลายๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะปรับหน้าดิน ถม ให้พื้นผิวเรียบเสมอกัน ซึ่งจะเหมาะกับบ้านที่ความลาดชันน้อย ไม่มีปัญหาเรื่องชนิดของดิน เครื่องจักรเข้าถึงได้ หรือจะใช้ส่วนที่ลาดชันทำเป็นสเต็ปบันไดค่อย ๆ ไต่ระดับเชื่อมโยงจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งของบ้าน อาจจะอยู่ภายนอกอาคารหรือในอาคารก็จะกลายเป็นเหมือนบ้านเล่นระดับ แต่สำหรับเนินที่มีความต่างของระดับค่อนข้างมากเหมือนเป็นเหวลงไป และเจ้าของบ้านไม่ต้องการรบกวนหน้าดิน การใช้วิธีขุดตอม่อวางเสาคอนกรีตรองรับตัวบ้านให้สูงเท่ากับระดับพื้นที่ราบ ก็จะทำให้ลดการรบกวนหน้าดิน และได้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างด้านล่างให้ลมไหลผ่านด้วย
แปลนบ้าน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น